วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาในสภาวะต่างๆ


การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาในสภาวะต่างๆ



นับตั้งแต่มนุษย์สามารถนำดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์จากการสังเกตดินเหนียวที่แตกระแหงจากการที่โดนความร้อนจากแสงแดด มนุษย์เริ่มเรียนรู้ว่าความร้อนทำให้ดินแข็งขึ้นและคงสภาพได้ จนมีการนำดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปทรงภาชนะ แล้วทิ้งไว้แห้งนำไปเผาไฟเพื่อให้แข็งและคงสภาพ ซึ่งดินเหนียวอาจมีการแตกร้าว มีการลองผิดลองถูก ทดลองปั้น ทดลองเผา จนกระทั่งสามารถควบคุมดินเหนียวที่นำมาปั้นเป็นภาชนะไม่ให้แตกได้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้นมาบนโลก และเนื่องมาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ภาชนะดินเผาผิวเรียบๆ ซึ่งมีไว้ใช้งานอย่างเดียวก็ถูกดัดแปลง แต่งเติม ตกแต่งลวดลาย อาจจะเริ่มสังเกตจากรอยพิมพ์นิ้วมือบนดินเหนียวนิ่มๆ ที่สามารถใช้ในการสร้างรอยประทับบนภาชนะได้ จึงเริ่มมีการตกแต่งลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นลวดลายจากเครื่องมือที่ใช้ช่วยในการขึ้นรูปภาชนะ เช่น รอยที่เกิดจากการตี ทุบ หรือลวดลายที่เกิดจากแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบๆตัว เช่น ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ คน สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะน้ำและสัตว์น้ำ ซึ่งการทำเครื่องปั้นดินเผาต้องอาศัยดินเหนียว ซึ่งต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำทั้งนั้น น้ำและทุกสิ่งที่อยู่ใกล้น้ำจึงมันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในการสร้างสรรค์ลวดลาย ซึ่งเราสามารถพบได้จากมรดกตกทอดที่ยังคงเหลือมาจนถึงปัจจุบันให้เราได้ศึกษาและชื่นชม
ปัจจุบันมนุษย์สามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมและผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราส่วนผสมของเนื้อดิน ส่วนประกอบต่างๆมีคุณสมบัติอย่างไร เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมในเนื้อดินแล้วส่งผลอย่างไร สำหรับการขึ้นรูปก็ยังเรียนรู้ที่จะสามารถนำดินมาขึ้นรูปไม่ว่าเนื้อดินจะอยู่ในสภาพเป็นน้ำดิน ดินเหนียว ดินแห้ง และเมื่อขึ้นรูปเสร็จแล้วยังสามารถควบคุมการแห้งของดินให้ช้าหรือเร็วได้ตามต้องการ แม้แต่การเผาซึ่งในอดีตที่เคยเผากลางแจ้งโดยไม่ใช้เตา ในปัจจุบันก็สามารถเก็บความร้อนไม่ให้กระจายไปสู่บรรยากาศ มีการสร้างเตาเพื่อเผาผลิตภัณฑ์ สามารถควบคุมความร้อนที่เกิดขึ้นให้มากหรือน้อย เร็วหรือช้าได้ตามต้องการ และด้วยความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผาจึงไม่ได้ทำขึ้นเพื่อใช้งานเท่านั้น จะต้องมีความงาม ความภาคภูมิใจที่ได้ใช้ของที่มีคุณค่า จึงมีการตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้นด้วย
การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบันสามารถทำได้ในทุกช่วงของการผลิต โดยอาจแบ่งได้ตามสภาวะที่เปลี่ยนไปของดินได้ดังนี้
1.1 การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาในสภาวะเตรียมดิน ซึ่งก็คือการผสมวัตถุดิบต่างๆ เพื่อเตรียมดิน เช่น การผสมสีทางเซรามิคลงไปในเนื้อดินก่อนที่จะนำไปขึ้นรูป เช่น เทคนิค Agatw ที่มีการเตรียมดินสีหลายๆสี แล้วนำมาเรียงติดต่อกันในแม่พิมพ์ปลาสเตอร์ (Hand build Agate) หรือการนำดินสอพองสองสีขึ้นไปมานวดแต่เพียงเล็กน้อยแล้วนำมาขึ้นรูปบนแป้นหมุน (Thrown Agate) เทคนิคการใช้อินทรีย์สาร เช่น เมล็ดพันธุ์พืชมาใช้ผสมในเนื้อดิน เพื่อให้เกิดพื้นผิวของเมล็ดพันธุ์พืชเหล่านั้น ซึ่งเมล็ดพันธุ์พืชเหล่านี้จะสลายไปเมื่อนำชิ้นงานไปเผา ในการทำกระเบื้อง (Tile) ที่ขึ้นรูปด้วยการอัดดินแห้ง (Dry Pressing) จากเม็ดดินสีหลายๆสีที่เตรียมจากกรรมวิธี Hydrocyclone ก็คือ การพ่นน้ำดินให้เป็นฝอยผ่านความร้อน ฝอยของน้ำดินก็จะแข็งตัวเป็นเม็ดเล็กๆ และเม็ดดินเหล่านี้ก็ถูกนำมาอัดลงในพิมพ์สำหรับการผลิตกระเบื้อง ซึ่งอาจมีการคละดินหลายๆสี เพื่อความสวยงาม
ในขณะที่ดินยังเปียกนี้ไม่ว่าจะเป็นดินผสมสี สีดินที่ไม่ผสมสีก็ตาม เรายังตกแต่งได้ด้วยการพิมพ์ลวดลายลงไปในดิน (Impressed) เพื่อให้เกิดพื้นผิวต่างๆ ที่น่าสนใจก่อนที่จะนำดินเหล่านี้ไปขึ้นรูปหรือแม้ว่าขึ้นรูปเสร็จแล้ว แต่ถ้าดินยังนิ่มอยู่ก็ยังสามารถพิมพ์ลายไปที่ผิวของงานได้
1.2 การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาในสภาวะดินหมาด หลังจากที่ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เสร็จแล้วทิ้งไว้ระยะหนึ่ง น้ำในดินจะค่อยๆ ระเหยออกดินก็จะเริ่มแข็งตัว เราเรียกช่วงนี้ว่าระยะดินหมาด (Leather hard State) สามารถตกแต่งได้หลายวิธีคือ Impressed (การประทับลาย) เทคนิค Inlay คือ การขูดภาชนะให้เกิดลวดลาย แล้วอัดดินสีอื่นลงแทนลวดลายที่ถูกขูดออก เทคนิค Sgraffito คือ การทาหรือจุ่มภาชนะลงในน้ำดินต่างสี แล้วขูดลวดลายจนมองเห็นสีของเนื้อดินเดิม เทคนิค Mocha คือ การจุ่มภาชนะที่ขึ้นรูปเสร็จใหม่ๆ ลงในน้ำดินสีขาว แล้วใช้พู่กันจุ่มน้ำยาที่เตรียมจากใบยาสูบผสมกับ Qxide ให้สีแตะอย่างรวดเร็วลงบนน้ำดินสีขาวที่ยังเปียกอยู่ น้ำยาจะกระจายตัวเป็นรูปร่างคล้ายๆ ใบเฟิร์นหรือต้นไม้ เทคนิค Spriging คือ การอัดดินลงไปในพิมพ์ปลาสเตอร์ขนาดเล็ก แล้วนำมาติดบนภาชนะ เทคนิคขนนก (Feather combing) คือ การใช้น้ำดินข้นๆ สองสีลากสลับกันบนดินหมาดๆ แล้วใช้ขนนกลากขวางไปมา เกิดลายที่คล้ายกับปีกกา การขัดมัน (Burnishing) คือ การขัดชิ้นงานขณะที่ชิ้นงานแข็งตัวแล้ว แต่ยังมีความชื้นอยู่ การขัดนั้นใช้วัสดุที่มีผิวมัน เช่น หลังช้อน พลาสติก เทคนิคนี้นิยมนำไปเผารมควัน
1.3 การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาหลังจากการเผาดิบ สามารถทำได้ด้วยการตกแต่งสีใต้เคลือบ แล้วเคลือบใสทับ ซึ่งสีใต้เคลือบสามารถนำมาใช้ระบายได้หลายวิธี เช่น ระบายด้วยพู่กัน พ่นด้วยแอร์บลัช การระบายด้วยสีชอล์คที่เตรียมจากสีใต้เคลือบ การกัน (Resist) ประเภทต่างๆ เช่น การกันด้วยขี้ผึ้ง (Wax Resist) การกันด้วยกาว (Glue Resist) การกันด้วยกระดาษ (Paper Resist) การกันประเภทต่างๆ นี้ เพื่อไม่ให้เคลือบสัมผัสกับภาชนะ เช่น เมื่อใช้ Wax เขียนลวดลายบนภาชนะแล้วนำไปเคลือบ ส่วนที่ทาด้วย Wax ก็จะไม่ติดเคลือบเมื่อนำไปเผาก็จะเกิดลวดลายตามส่วนที่ทาด้วย Waxและเทคนิคที่นิยมและพบโดยทั่วไป คือ การตกแต่งโดยวิธีการเคลือบด้วยน้ำเคลือบประเภทต่างๆ เช่น เคลือบมัน เคลือบด้าน เคลือบผลึก เคลือบราย เคลือบที่มีชื่อเรียกเฉพาะต่างๆ เช่น เคลือบ Majolica ฯลฯ โดยที่วิธีการเคลือบสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การจุ่ม (Dipping) เท ราด (Pouring) การพ่น (Spraying) การระบาย (Painting)
1.4 การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาในระยะเผาเคลือบ แม้แต่ในขณะที่ทำการเผาเคลือบยังมีเทคนิคที่ใช้ในการเผาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น การเผาแบบลดออกซิเจน (Reduction firing) ในเคลือบ Copper red ซึ่งหลังจากที่ Copper oxide ในเคลือบทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างการเผาแบบลดออกซิเจนนั้น Copper oxide ที่ให้สีเขียวก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือในเคลือบเซลาดอนที่มี Ferric oxide จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมฟ้า และในระยะที่ทำการเผานี้ แม้ผลิตภัณฑ์ไม่มีการเคลือบก็ยังตกแต่งได้ เช่น การเผารมควัน เพื่อให้งานที่ได้มีสีที่เป็นธรรมชาติตั้งแต่สีครีม น้ำตาลจนถึงดำ นอนกจากนี้การเผาแบบเทคนิครากุ (Raku Firing) ก็เป็นเทคนิคที่ชวนให้หลงใหลเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทำโดยการเผาในเตาเผาจนเคลือบถึงจุดสุกตัวแล้ว ใช้เหล็กคีบออกมาจากเตาในขณะที่ยังร้อนๆ (อุณหภูมิประมาณ 600-700 C) แล้วนำมาคลุกกับขี้เลื่อยให้เกิดควัน ซึ่งควันจะไปจับที่ผิวเคลือบและทำปฏิกิริยากับเคลือบ ทำให้เกิดสีสันที่แวววาวเหมือนโลหะและในส่วนที่ไม่มีการเคลือบก็จะมีสีดำสนิท
1.5 การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาในระยะหลังการเผาเคลือบ หลังจากเผาเคลือบเสร็จแล้ว สามารถนำชิ้นงานมาตกแต่งด้วยสีบนเคลือบด้วยวิธีการต่างๆ สีบนเคลือบสุกตัวที่ไฟต่ำ ประมาณ 750 จึงไม่มีผลกับผลิตภัณฑ์และเคลือบมากนัก สีบนเคลือบจึงถูกนำไปใช้ในการตกแต่งเครื่องเบญจรงค์ การทำรูปลอกสีบนเคลือบ (Decal) ที่พบเห็นทั่วไปบน แก้วเซรามิกตามท้องตลาด นอกจากนี้ชิ้นงานที่เผาเคลือบแล้วยังสามารถนำมาตกแต่งด้วยการปิดทับด้วยทองคำเปลวหรือแผ่นเงินเปลว แล้วนำไปเผาที่ 750 แผ่นทองหรือแผ่นเงินก็จะติดแน่นบนชิ้นงาน สำหรับสีเงินและสีทองบนเครื่องเบญจรงค์นั้นเป็นทองคำเหลว (Liquid gold) และทองคำขาวเหลว (Liquid platinum) ซึ่งใช้โดยการระบายด้วยพู่กันแล้วนำไปเผาที่ประมาณ 750 C
เทคนิคในการตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้เป็นเทคนิคพื้นฐานซึ่งใช้กันทั่วไปในหมู่ช่างปั้น ซึ่งเทคนิคต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ดัดแปลงเพื่อให้เกิดเทคนิคใหม่ๆจนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของช่างปั้นเอง หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบการผลิตเพื่อให้มีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ต่างจากที่อื่น ดังที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในท้องตลาด
เพื่อที่จะให้ผลงานออกมาดีนั้น จะต้องคำนึงถึงความตั้งใจ ความต่อเนื่องในการทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการทำงานตกแต่งเครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากบางกรณีไม่อาจทิ้งงานเอาไว้เพื่อนำมาทำต่อวันหลังได้ เช่น ดินอาจจะแห้งจนเกินกว่าที่จะทำเทคนิคตกแต่งในช่วงดินหมาดได้ ดังนั้นจึงต้องให้เวลากับการทำงานจนกว่าจะเสร็จ
เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการของเครื่องเคลือบดินเผานั้น ผู้ที่สร้างควรจะมีมโนภาพได้ตั้งแต่เริ่มออกแบบเป็นงาน 2 มิติ ว่าจะเผาอย่างไร จะเคลือบอย่างไร เช่น ถ้าต้องการเผารากุ (Raku) ก็ควรเตรียมดินไว้ตั้งแต่ Sketch 3 มิติ หากปั้นด้วยดินชนิดอื่นก็ไม่อาจเผาด้วยเทคนิคนี้ได้ จะเห็นได้ว่างานเครื่องเคลือบดินเผานั้นจะต้องมีเทคนิคมาเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ดังนั้นผู้ที่สร้างงานประเภทนี้ควรศึกษาและเตรียมความพร้อมทั้งเนื้อดินและการตกแต่ง การเคลือบไว้พร้อมๆกับการเริ่มทำแบบร่าง หากปั้นและเผาดิบออกมาแล้ว ก็คงจะเหลือเพียงไม่กี่เทคนิคที่จะเคลือบให้งานสมบูรณ์
ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลงานออกมาสมบูรณ์ตรงความตั้งใจ จึงต้องมีการทดลองหลายๆ ครั้งจนมั่นใจเสียก่อนที่จะทำชิ้นงานจริง เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดต่างๆ อันอาจจะเกิดขึ้นตลอดเวลาในการทำเครื่องปั้นดินเผา นับตั้งแต่การชั่ง ผสมวัตถุดิบ ซึ่งหากขาดสมาธิก็อาจทำให้ชั่งปริมาณวัตถุดิบ สารเคมีผิดพลาด ซึ่งกว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อเผางานเสร็จแล้ว ต่อมาเมื่อขึ้นรูปงานไม่ว่าจะเป็นการปั้นด้วยมือหรือขึ้นรูปโดยวิธีอื่นก็ตาม งานอาจแตกร้าว บิดเบี้ยวได้ หากขาดความรู้ความเข้าใจในการขึ้นรูป หลังจากนั้นเมื่อนำชิ้นงานไปเผาดิบอาจเกิดการปริ แตก หรือร้าวบนชิ้นงานได้ หากขึ้นรูปไว้ไม่ดี หรือหากเผาไม่ดีก็เกิดผลเสียหายกับชิ้นงานได้เช่นเดียวกัน เมื่อผ่านการเผาดิบแล้วนำงานมาเคลือบ อาจจะเคลือบบางเกินไปหรือหนาเกินไปก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งกว่าจะรู้ก็ต้องรอจนกว่าเผาชิ้นงานเสร็จแล้ว ทำให้สิ้นเปลืองทั้งแรงงานและเชื้อเพลิงในการเผา
การสร้างงานศิลปะด้วยเครื่องปั้นดินเผาต่างกับการสร้างงานโดยวัสดุอื่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากการหดตัวของเนื้อดิน การเคลือบ การเผาจึงทำให้ไม่สามารถควบคุมสี รูปทรงได้ถึง 100เมื่อเปิดเตาแล้วผลงานอาจจะออกมาดีกว่าที่คาดหวังไว้หรือบางครั้งงานอาจจะแตกร้าวไม่สมบูรณ์ก็เป็นได้ ดังนั้น “ประสบการณ์” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะควบคุมผลงานเครื่องปั้นดินเผาให้ออกมาได้ดังใจ

แก้วเซรามิค, แก้วมัค, สกรีนแก้ว,แก้วเซรามิคราคาส่ง, โรงงานเซรามิค, ถ้วยเซรามิค, แก้วเซรามิคลําปาง, แก้วกาแฟเซรามิค, แก้วมัคราคาส่ง, สกรีนแก้วกาแฟ, รับสกรีนแก้ว,แก้ว mug, แก้วเซรามิคราคาถูก, แก้วสกรีน, ชุดแก้วกาแฟ, แก้วเซรามิคสกรีนโลโก้, โรงงานผลิตแก้วเซรามิค, ชุดกาแฟเซรามิค, แก้วน้ำ, แก้วมัคราคาถูก, โรงงานแก้วเซรามิค, แก้วสกรีนโลโก้, โรงงานเซรามิคลําปาง


บริษัทเซรามิค เอส.ที.ซี. จำกัด | CERAMIC STC CO.,LTD
98 หมู่ 10 ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52100 
ติดต่อ : ฝ่ายขาย  Tel : 054-367-490  
Fax: 054-367-491 
Mobile: 08-4687-8354, 08-3090-2080 
Opening Hours : Mon-Sat : 10:00 – 20:00 
Email: info@ceramicstc.co.th
Line: @ceramicstc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น